Phone: 03-312-4848 (ทร.74496)

Mobile : 093-397-1342

แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม

ยศจอมพลเรือ (Admiral of the Fleet)

 Flag admiral of  the fleet

ธงหมายยศ จอมพลเรือ

 

royal thai navy rank 01

เครื่องหมายยศ จอมพลเรือ

 

ยศจอมพลเรือ เป็นยศทหารเรือที่สูงที่สุด ผู้ที่จะได้รับพระราชทานยศนี้ จะต้องเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างดีเยี่ยม และจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างดีด้วย ในกองทัพเรือไทย ก็มีผู้ที่ได้รับพระราชทานยศจอมพลเรือเพียงไม่กี่ท่าน

ยศจอมพลเรือ เริ่มแรกทีเดียวถือเป็น "ตำแหน่ง" เรียกว่า "นายทัพเรือ" ซึ่งได้ทรงกระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรและทรงกำหนดศักดินา ๑๐,๐๐๐ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๑ ซึ่งเป็นภายหลังจากที่ได้ทรงประกาศจัดการทหารแบบยุโรปขึ้นแล้ว
ยศ "นายทัพเรือ" ได้เริ่มมีตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๑ เรื่อยไปจนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๔๔๘ จึงเรียกยศ "นายทัพเรือ" เป็น "จอมพล" ดังปรากฏตามหลักฐานในพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวทหารเรือ ซึ่งตราขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๘ ว่า "จอมพลมีเครื่องหมายยศและสายโยงยศจากบ่าขวาสอดใต้แขน ๑ สาย เป็นเครื่องหมายจอมพล" ในโอกาสนี้ยศนายทัพเรือได้เลิกไปโดยปริยายเพราะไม่ได้กล่าวถึงอีก

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๓ เรื่อง ประกาศยกเลิกการใช้สายยงยศสำหรับตำแหน่งจอมพลว่า "จอมพลเป็นยศทหารส่วนหนึ่งหาใช่ตำแหน่งไม่" ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๔ ได้มีพระบรมราชโองการตราพระราชบัญญัติศักดินาทหารเรือขึ้น โดยให้จอมพลเรือมีศักดินา ๑๐,๐๐๐
ครั้นถึงวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๙ ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติยศทหารขึ้น ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่ายศ "จอมพลเรือ" เทียบเท่าจอมพลและจอมพลอากาศ ต่อมาในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ได้ตราพระราชบัญญัติให้นายทหารที่ได้รับยศจอมพล จอมพลเรือและจอมพลอากาศ รับราชการอยู่จนตลอดชีวิต โดยมีเหตุผลว่าเนื่องจากยศ จอมพลเป็นยศสูงสุดของทหาร นายทหารที่ได้รับยศชั้นนี้ จะต้องเป็นผู้ที่ได้ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ หรือได้ประกอบคุณงามความดีในเมื่อมีการรบหรือการสงคราม ทั้งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง อยู่ในชั้นที่จะรับใช้ประเทศทุกขณะ จึงเป็นการสมควรที่จะได้รับราชการอยู่จนตลอดชีวิต แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ โดยให้เหตุผลว่าการที่บัญญัติให้นายทหารที่มียศจอมพลรับราชการอยู่จนตลอดชีวิตนั้นไม่เหมาะสม จึงสมควรแก้ไขในเรื่องนี้ เพื่อให้นายทหารดังกล่าวรับราชการเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป

ยศจอมพลเรือนี้คือยศ "นายทัพเรือ" เดิมและเทียบตำแหน่ง "แม่ทัพ" ฉะนั้นจึงได้มีระเบียบการขอพระราชทานยศชั้นนี้ไว้ว่า "การขอพระราชทานยศจอมพลเรือนั้นจะกระทำได้เฉพาะผู้มีความดีความชอบที่ได้อำนวยการ หรือนำทหารเข้าทำการรบ หรือการสงครามได้ผลดียิ่งเท่านั้น"

ผู้ที่ได้รับพระราชทานยศจอมพลเรือของกองทัพเรือไทย มี่รายพระนามและนามดังต่อไปนี้

๑. จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้รับพระราชทานยศจอมพลเรือ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๖
๒. จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้รับพระราชทานยศจอมพลเรือ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๐
๓. จอมพลเรือ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก-ขีตตะสังคะ) ได้รับพระราชทานยศจอมพลเรือ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔
๔. จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล (ประยูร ยุทธศาสตร์โกศล) ได้รับพระราชทานยศ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๙
๕. จอมพลเรือ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับพระราชทานยศ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๒
๖. จอมพลเรือ ถนอม กิตติขจร ได้รับพระราชทานยศ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๗
๗. จอมพลเรือ ประภาส จารุเสถียร ได้รับพระราชทานยศ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๖

banner fish 04